แบบจำลองเศรษฐมิติมหภาคของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

    NIDA Macro Model

    ลักษณะพื้นฐาน ของแบบจำลอง

             แบบจำลองเศรษฐกิจมหภาครายไตรมาสของสถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ (NIDA’s Quarterly Macroeconometric Model ) ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบัน โดยการสร้างแบบจำลองจะมีลักษณะผสมผสานระหว่างการใช้ทฤษฏีเศรษฐศาสตร์มหภาคและหลักการทางสถิติ โดยลักษณะโครงสร้างพื้นฐานจะเน้นความสำคัญของอุปสงค์มวลรวมในการกำหนดผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ตามแนวทางการวิเคราะห์แบบ Keynesian และเพิ่มเติมปรับแต่งให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นตามพัฒนาการของความรู้ทางเศรษฐศาสตร์มหภาค ทั้งในแง่พฤติกรรมของครัวเรือน และองค์กรธุรกิจ บทบาทของสถาบันการเงิน และความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ส่วนปัจจัยด้านอุปทานจะแทนด้วยระดับผลผลิตตามศักยภาพ (Potential Output) ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจมหภาคผ่านการกำหนดช่องว่างการผลิต (Output Gap) และจะเป็นตัวสะท้อนความสัมพันธ์ระหว่างอุปสงค์และอุปทานในการกำหนดระดับผลผลิตมวลรวม

             พัฒนาการของแบบจำลอง NIDA Macro Model เริ่มมาจากตัวแบบที่เน้นด้านการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งจะกำหนดโดยมูลค่าการนำเข้ารวมของโลกและของประเทศคู่ค้าที่สำคัญ และในระยะต่อมาได้มีการเพิ่มเติมรายละเอียดในภาคการเงินได้แก่

    - ตลาดทุน (ตลาดหลักทรัพย์ฯ ตลาดพันธบัตรเอกชน และตลาดพันธบัตรรัฐบาล)

    - การปล่อยสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์

    - แหล่งที่มาของเงินทุน อันได้แก่ กองทุนรวม กองทุนตลาดเงิน (Money Market Fund) และปริมาณเงินฝากประเภทต่างๆ

    - การกำหนดอัตราดอกเบี้ยประเภทต่างๆ เช่น อัตราดอกเบี้ยนโยบายการเงิน (อัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตร 1 วัน) โดยมีการสร้างสมการที่แสดงถึงการตอบสนองของอัตราดอกเบี้ยนโยบายฯ ต่ออัตราเงินเฟ้อพื้นฐานตามเป้าหมายกรอบแนวโน้มเงินเฟ้อ

    - ความเชื่อมโยงกับภาคเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ทั้งในด้านของการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ และการกำหนดอัตราแลกเลี่ยนเงินตราต่างประเทศ

    - รายละเอียดในดุลบัญชีเดินสะพัด ได้แก่ การนำเข้า-ส่งออกสินค้า รายรับ-รายจ่ายจากการท่องเที่ยว รายรับ-รายจ่ายจากภาคบริการอื่นๆ และดุลบัญชีเงินโอน-บริจาค

             ดังนั้นแบบจำลองนี้จึงสามารถใช้ในการวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาคภายในประเทศไทย รวมถึงความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ผลกระทบจากภาคการเงิน รวมถึงการตัดสินใจเชิงนโยบายการเงิน ในช่วงเวลาที่ผ่านมา NIDA Macro Model ได้ถูกนำมาใช้ในการพยากรณ์เศรษฐกิจของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ รวมถึงงานวิจัยอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยองค์ประกอบของแบบจำลองที่สำคัญแสดงได้ดังต่อไปนี้

    องค์ประกอบของแบบจำลอง NIDA Macro Model

    แบบจำลองที่ใช้ประกอบด้วยภาคเศรษฐกิจหลัก 6 ภาคได้แก่

         i) รายได้ประชาชาติและช่องว่างการผลิต

         ii) การใช้จ่ายภาคเอกชน

         iii) การใช้จ่ายภาครัฐบาล

         iv) ระดับราคาสินค้า

         v) ตลาดการเงินภายในประเทศ และอัตราดอกเบี้ย

         vi) ตลาดการเงินระหว่างประเทศ

         vii) การค้าระหว่างประเทศและดุลบัญชีเดินสะพัด

    ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเครื่องมือในการพยากรณ์เศรษฐกิจมหภาคสามารถดูได้จาก

         ตัวแบบเพื่อการพยากรณ์เศรษฐกิจมหภาค

    ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายละเอียดของแบบจำลอง NIDA Macro Model สามารถดูได้จาก

         ตัวแบบเศรษฐมิติมหภาคของสถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ระยะที่ 1 (พฤษภาคม 2550)

         รายงาน ตัวแบบเศรษฐมิติมหภาคของสถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ระยะที่ 2 (พฤศจิกายน 2554)

    ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวรายงานการพยากรณ์เศรษฐกิจมหภาคของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ในปี 2555 สามารถอ่านเพิ่มเติมได้จาก

         รายงานฉบับสมบูรณ์“โครงการ พยากรณ์เศรษฐกิจมหภาคและวิเคราะห์ผลกระทบเชิงนโยบายโดยตัวแบบเศรษฐมิติมหภาคของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์”